คณะศึกษาศาสตร์ มช. ประชุมร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายความร่วมมือฯ วางแผนเตรียมการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาครูและผู้บริหารในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 11 มกราคม 2566
โดย : คณะศึกษาศาสตร์
ผู้เข้าชม : 364 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. ประชุมร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายความร่วมมือฯ วางแผนเตรียมการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาครูและผู้บริหารในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่

         เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมวางแผนเตรียมการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาครูและผู้บริหารในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมฯ และร่วมกันวางแผนดำเนินงานในการพัฒนาสมรรถนะครูในโรงเรียน ภายใต้โครงการวิจัยกลไกการจัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่โดยใช้การมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายความร่วมมือของโรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยโดยในการนี้ได้นำผู้บริหารและอาจารย์ที่เป็นคณะทำงานและนักวิจัย ประชุมร่วมกับ ดร.ยุพิน บัวคอม ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8 จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษานิเทศก์ และภาคีความร่วมมือที่เป็นคณาจารย์จากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลปัญหาต่าง ๆ ในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 104 โรงเรียนที่ทางคณะศึกษาศาสตร์ได้ดำเนินการวิเคราะห์กรณีศึกษาจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จและการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม เพื่อสะท้อนสภาวการณ์ สภาพปัญหาของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งยังร่วมกันให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ ศูนย์ให้คำปรึกษาฯ และรูปแบบพัฒนาสมรรถนะครูในโรงเรียนนำร่องฯ อีกด้วย

         คณะศึกษาศาสตร์ มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาครูและผู้บริหารในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ในการร่วมกันพัฒนาโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะให้คำปรึกษาในด้านงานวิชาการ งานบริหารจัดการในโรงเรียน การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ สื่อเทคโนโลยีการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และบรรลุผลตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562